วิธีพืช   วิธีกล   วิธีการเขตกรรม

การอนุรักษ์ดินและน้ำโดยวิธีพืช แบ่งได้ดังนี้ คือ :-


1. การปลูกพืชคลุมดิน (cover cropping) คือ การปลูกพืชที่มีใบหนาหรือมีระบบรากแน่นสำหรับคลุมและยึดดิน
เช่น พืชตระกูลถั่วหรือตระกูลหญ้า

1) วัตถุประสงค์ของการปลูกพืชคลุมดิน คือ

(ก) ทำให้ดินมีสิ่งรองรับแรงปะทะจากเม็ดฝน
(ข) ดูดธาตุอาหาร ซึ่งอาจสูญเสียไปโดยการชะละลาย โดยน้ำภายใต้ดิน
(ค) เป็นปุ๋ยพืชสดเพิ่มอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืชให้แก่ดิน
(ง) ทำให้สมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้น คือ ดินจะอุ้มน้ำและระบายน้ำได้ดี

2) หลักการคัดเลือกชนิดของพืชคลุมดินเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ

( ก) ควรเป็นพืชแรมปี (perennial) เพราะถ้ามีอายุเพียง 1 หรือ 2 ปี แล้วจะเป็นการลำบากที่จะต้องปลูกกันบ่อยครั้ง
( ข) ควรเป็นพืชที่เป็นเถาเลื้อย (creeping) เพื่อว่าจะได้เลื้อยคลุมที่ว่างเปล่า และควรเป็นพืชตระกูลถั่ว เพื่อจะได้ตรึง
แก๊สไนโตรเจนในอากาศให้แก่ดิน นอกจากนี้ควรเป็นพืชอาหารสัตว์ได้ด้วย
( ค) ควรเป็นพืชที่เลื้อยพันและเจริญเติบโตเร็ว เพื่อว่าจะได้พันวัชพืชมิให้ตั้งตัวและเจริญได้
( ง) ควรเป็นพืชที่มีรากแผ่สาขาออกไปได้มาก เพราะจะช่วยยึดเหนี่ยวเม็ดดินให้ต ิ ดกันไม่พังทลายได้ง่าย
( จ) ควรเป็นพืชที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม คือ เจริญได้ดีทั้งในร่ม เช่น สวนผลไม้ และกลางแจ้ง
( ฉ) ควรเป็นพืชที่ทนทานต่อโรคและแมลง

3 ) ข้อดีและข้อเสียของการปลูกพืชคลุมดิน
ข้อดี

  • ลดปริมาณการสูญเสียธาตุอาหาร อินทรียวัตถุ และเนื้อดิน
  • รักษาความชุ่มชื้นของดิน
  • สามารถใช้เป็นพืชอาหารสัตว์ได้
  • ปรับปรุงสมบัติทางกายภาพ เคมี และชีวะของดิน
  • สามารถไถกลบ ใช้เป็นปุ๋ยพืชสด (green manure) ได้
  • เพิ่มไนโตรเจนให้แก่ดิน โดยเฉพาะจากการตรึงของแบคทีเรียในปมถั่ว
  • กสิกรอาจหารายได้จากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ุ์

ข้อเสีย

  • เมล็ดพันธุ์ที่ดีมักหายากและราคาแพง
  • อาจเป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูพืช
  • เสียเวลามิให้เถาพืชคลุมดินเลื้อยพันพืชหลัก

2. การปลูกพืชหมุนเวียน (crop rotation) คือ การปลูกพืชต่างชนิดกันบนพื้นที่เดียวกันหมุนเวียนกันไป
หลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาเลือกพืชหมุนเวียน

     ( ก) ความแตกต่างกันในด้านความต้องการธาตุอาหารพืช พืชต่างชนิดต้องการธาตุอาหารบางชนิดมากน้อยต่างกัน
เช่น ข้าวโพดต้องการไนโตรเจนจากดินมาก ส่วนถั่วไม่จำเป็นต้องได้จากดิน ดังนั้นจึงควรปลูกข้าวโพดหลังถั่ว
     ( ข) ความแตกต่างกันในด้านอุปนิสัยของการดูดธาตุอาหาร พืชแต่ละชนิดมีระบบรากแตกต่างกัน พืชที่มีรากลึกสามารถ
จะหาน้ำและอาหารได้ดีกว่าพืชรากตื้น ไม่ควรปลูกพืชที่มีระบบรากคล้ายคลึงกันต่อเนื่องกัน
     ( ค) ความแตกต่างกันในส่วนประกอบทางเคมี พืชชนิดต่างกันจะมีองค์ประกอบต่างกัน เช่น พืชตระกูลหญ้าจะมีคาร์บอน
มาก แต่มีไนโตรเจนน้อย ส่วนพืชตระกูลถั่วจะมีไนโตรเจนมากกว่าพืชตระกูลหญ้า ดังนั้น C:N ratio ของหญ้าจึงสูงหรือ
กว้าง แต่ของถั่วจะต่ำและแคบ
เศษเหลือของพืชที่มี C:N ratio แคบจะสลายตัวเร็ว เป็นประโยชน์ต่อพืชถัดไป ดังนั้นควรปลูกพืชตามหลังพืชตระกูลถั่ว
     ( ง) ความแตกต่างในการต้านทานโรคและแมลง พืชหลายชนิดที่อยู่ในตระกูลใกล้เคียงกันมักจะเป็นแหล่งเพาะ (host)
ของศัตรูชนิดเดียวกัน เช่น หนอนกอ สามารถทำลายได้ทั้งข้าวและข้าวโพด จึงไม่ควรปลูกทั้งสองอย่างต่อเนื่อง
กัน ความแตกต่างในสารที่รากพืชสกัดออกมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค้นพบใหม่ รากของ
     (ช)พืชบางชนิดสามารถขับถ่ายสารบางอย่างซึ่งเป็นพิษกับพืชบางชนิด ดังนั้นไม่ควรปลูกพืชทั้งสองพวกนั้นต่อเนื่องกัน

ผลของการปลูกพืชหมุนเวียน
ข้อดี

  • มีงานทำตลอดปี
  • มีระเบียบในการปฏิบัติงานในที่ดิน
  • เพิ่มรายได้จากผลผลิตของพืชหลายชนิด
  • ถ้าทำถูกต้องจะต้องรักษาระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน
  • เสี่ยงต่อการขาดทุนน้อยลง

ข้อเสีย

  • ถ้ามีพื้นที่จำกัดแล้วจะทำให้รายได้จากพืชหลัก (cash crop) ลดลง

3.การปลูกพืชตามแนวระดับ (contour cultivation or contouring)

     1) ความหมาย การปลูกพืชตามแนวระดับ หมายถึง การไถพรวน หว่าน ปลูก และเก็บเกี่ยวพืชขนานไปตามแนวระดับเดียว
กันขวางความลาดเทของพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อลดอัตราการแตกกระจายและพัดพาดินไป ประสิทธิภาพของการปลูกพืชตามแนวระดับ
นี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของดิน ความลาดเท ลมฟ้าอากาศ และลักษณะการใช้ที่ดิน โดยทั่วไปแล้วการปลูกพืชตามแนวระดับที่มี
ประสิทธิภาพดีที่สุดนั้น ควรปฏิบัติบนพื้นที่ที่มีความลาดเทอยู่ระหว่าง 2-7% และระยะของความลาดเทไม่ควรเกิน 100 เมตร

2) ผลของการปลูกพืชตามแนวระดับ

ข้อดี

  • ช่วยสงวนดินจากการกัดกร่อนประมาณ 0.12-16.72 ตัน/ ไร่/ ปี
  • สงวนน้ำไว้ในดินได้ประมาณ 12.3-482.6 มม./ ปี
  • ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
  • ป้องกันกล้าพืชและเมล็ดพืชมิให้ถูกน้ำชะพาไป

ข้อเสีย

  • ถ้าความยาวของความลาดเทมากเกินไป จะเกิดน้ำไหลบ่าในส่วนล่างของพื้นที่ทั้งนี้เนื่องจากน้ำไหล
    ข้ามคันดินเล็กๆอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการกร่อนดินเพิ่มขึ้นได้
  • หากเป็นสภาพดินที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาก จะเป็นการยากในการไถ พรวน ทั้งนี้เพราะจะทำให้เกิดแนวโค้งงอมาก

4. การปลูกพืชสลับเป็นแถว (strip cropping)

      การปลูกพืชสลับเป็นแถว หมายถึง การปลูกพืชต่างชนิดบนพื้นที่เดียวกันขวางความชันของพื้นที่หรือตามแนวระดับ
(contour) เป็นแถบ ๆ (band หรือ strip) มักจะปฏิบัติเมื่อพื้นที่นั้นมีความลาดเทต่ำกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ และความยาวของ
ความลาดเทเกินกว่า 15 เมตร เมื่อทำถูกต้องดีสามารถลดการกัดกร่อนได้ถึง 75 เปอร์เซ็นต์

1) ชนิดของการปลูกพืชสลับเป็นแถบ

     ( ก) การปลูกพืชสลับเป็บแถบตามแนวระดับ (contour strip cropping) หมายถึง การปลูกพืชแต่ละชนิดไปตาม
แนวระดับเป็นแถบ ๆ ไป เช่น ข้าวโพด ปอเทือง ข้าวฟ่าง หญ้าเลี้ยงสัตว์ ส่วนมากจะสลับกันในระบบการปลูกพืชหมุนเวียน

     ( ข) การปลูกพืชสลับเป็นแถบอย่างมีระเบียบ (field strip cropping) หมายถึง การปลูกพืชแต่ละชนิดเป็นระเบียบ
ขนานกันไปตัดขวางความลาดเทโดยไม่คดเคี้ยวไปตามเส้นระดับ (contour line) เหมือนชนิดแรก แต่หลักการคงเช่น
เดียวกัน การปลูกพืชแบบนี้มักจะทำในพื้นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มากจนไม่สามารถทำการปลูกพืชแบบแรกได้

     ( ค) การปลูกพืชแบบสลับเป็นแถบเพื่อป้องกันลม (wind strip cropping) มีหลักการคล้ายการปลูกพืชสลับเป็นแถบ
อย่างมีระเบียบ คือ มีความกว้างของแถบแน่นอนแต่ขวางทิศทางลม ส่วนมากนิยมใช้ในที่ที่มีความลาดเทน้อย ซึ่งมีการ
กร่อนดินโดยลมเกิดขึ้นมากกว่ามีการกร่อนดินโดยน้ำ

     ( ง) การปลูกพืชสลับเป็นแถบซึ่งต้องการฉนวน (buffer strip cropping) มีหมายถึง การปลูกพืชสลับเป็นแถบที่จะต้อง
แก้แถบของการปลูกพืชให้ขนานกัน ในกรณีที่พื้นที่มีความลาดเทไม่สม่ำเสมอโดยแก้จากเส้นระดับเส้นบนลงมา ทั้งนี้เพื่อ
ให้สะดวกในการใช้เครื่องมือไถพรวนในบริเวณขนาน (buffer) นั้นมักจะปลูกหญ้าหรือพืชตระกูลถั่วลงไปอย่างถาวร

2) ขนาดความกว้างของแถบ ขึ้นอยู่กับระยะของความลาดเท เปอร์เซ็นต์ของความลาดเท การซาบซึมน้ำ ความสามารถใน
การทนทานต่อการเกิดการกร่อนดิน ปริมาณน้ำฝน ชนิดของพืชที่จะนำมาใช้หมุนเวียน ชนิดและขนาดของเครื่องมือ เป็นต้น

3) ข้อเสียของการปลูกพืชสลับเป็นแถบ การปลูกพืชสลับเป็นแถบอาจมีข้อเสีย คือ เป็นที่อยู่อาศัยของโรคและแมลงของ
ศัตรูพืช ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อยาปราบ


5. การปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ

     แนวหญ้าแฝกซึ่งปลูกเป็นแถวขวางความลาดชันของพื้นที่ในไร่อ้อย เมื่อเวลาผ่านไป 20- 30 ปี สามารถทำให้พื้นที่นั้น
ปรับสภาพความลาดชันลงเป็นพื้นที่ขั้นบันไดดินสูง 3 ถึง 4 เมตร ดังนั้นหญ้าแฝกจึงสามารถนำมาสร้างขั้นบันไดดินได้โดย
ธรรมชาติ ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปผสมผสานกับเทคนิคการเตรียมดินและเพาะปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งต้องอาศัยเวลา การ
ที่หญ้าแฝกสามารถทำให้เกิดขั้นบันไดได้นั้น เนื่องจากหญ้าแฝกมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถแตกกอโดยการแตกหน่อที่ข้อ
ของลำต้น หรือ เหง้าเหนือดินได้ตลอดเวลา เมื่อตะกอนดินมาทับถมแถวหญ้าแฝก ลดการสูญเสียดินจากการชะละลาย 3 ถึง
5 เท่าจากที่ไม่มีแฝก จึงทำให้หญ้าแฝกทั้งกอใหม่อยู่ที่ระดับผิวดินตลอดไป ขณะเดียวกันมีระบบรากฝอยที่หยั่งลึกลงไปตาม
ความลึกของดิน เกาะยึดดินให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง ประกอบกับหญ้าแฝกเป็นพืชที่ไม่ไวต่อช่วงแสงจึงเจริญเติบโตย่าง
ปล้องออกดอกได้ตลอดปี ทำให้แถวหญ้าแฝกมีการเจริญเติบโตในลักษณะยกตัวสูงอยู่เหนือระดับผิวดินที่สูงขึ้นตลอดเวลา
ดูประการหนึ่งว่าขั้นบันไดดินมีชีวิตสามารถงอกเงยสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าความลาดชันของพื้นที่จะถูกปรับให้อยู่ในแนวระดับ
แล้ว กระบวนการปรับโครงสร้างขั้นบันไดดิน โดยแนวหญ้าแฝกจึงสิ้นสุดลง ต่อจากนั้นจะเป็นกระบวนการเพิ่มเติมความอุดม
สมบูรณ์ของดิน โดยสร้างหน้าดินให้เป็นดินดี เนื่องจากดินมีความชุ่มชื้นมากขึ้น( แนวหญ้าแฝกลดการสูญเสียน้ำได้ 25 ถึง
70 เปอร์เซ็นต์)พืชพรรณต่าง ๆ ขึ้นรวมทั้งพืชคลุมดินและบำรุงดินที่ปลูก ใบหญ้าแฝกที่ได้จากการตัด ดูแลแถวหญ้าแฝก
และใช้คลุมดินเหล่านี้จะเป็นการช่วยให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศน์ดิน เช่นเพิ่มอินทรียวัตถุ ธาตุอาหารพืชแก่ดิน เพิ่ม
ปริมาณจุลินทรีย์ดิน พืชและสัตว์ในดิน ทำให้ดินมีชีวิตหน้าดิน เกิดความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้หญ้าแฝกมีระบบรากแพร่
กระจายไปในแนวลึกมากกว่าออกด้านข้าง ทำให้แถวหญ้าแฝกต้องการพื้นที่เพื่อการเจริญเติบโตไม่กว้างนัก เช่น แถวหญ้า
แฝกที่มีอายุตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ทรงพุ่มทั้งสองข้างรวมกันแล้วจะกินเนื้อที่มีความกว้างไม่เกิน 1.5 เมตรจึงทำให้เสียพื้นที่น้อย
เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำอื่น ๆ เช่น คันดิน จึงสามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ใกล้ชิดแถวหญ้าแฝกโดย
ไม่มีการแข่งขันหรือรบกวนจากหญ้าแฝก

 

หญ้าแฝกมีคุณสมบัติบางประการที่เหมาะสมต่อการนำมาใช้ในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ คือ

1. หญ้าแฝกมีการแตกกอจำนวนมาก และเบียดเสียดกันอย่างหนาแน่น และแข็งแรงกอตั้งตรง สามารปลูกติดต่อกัน
ให้เป็นแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่งได้ง่ายเปรียบเสมือนกำแพงต้านทานตะกอนดินที่ถูกน้ำกัดเซาะและพัดพามาให้ตกทับถมด้าน
หน้าแถวหญ้าแฝก และชะลอความเร็วของน้ำ ทำให้น้ำเอ่อและไหลซึมลงไปใต้ดิน

2. ลำต้นเหนือดินซึ่งมีข้อถี่ และข้อที่เกิดจากการย่างปล้อง เมื่อหญ้าแฝกมีอายุใกล้ออกดอกและแตกหน่อ และรากใหม่
ออกมาเสมอเมื่อตะกอนดินทับถมจึงสามารถตั้งกอใหม่ได้

3. กอหญ้าแฝกสามารถตัดต้นและใบให้แตกหน่อใหม่เขียวสดอยู่เสมอ ต้นและใบใช้เป็นวัสดุดินรักษาความชุ่มชื้นและ
เพิ่มแร่ธาตุอาหารพืชให้แก่ดินเมื่อย่อยสลายแล้ว เช่นเดียวกับปุ๋ยหมัก หากหญ้าแฝกแก่ต้นและใบจะแห้ง เมื่อถูกไฟเผาจะ
แตกหน่อใหม่เขียวสดขึ้นมาทันทีไม่จำเป็นต้องมาปลูกใหม่ ผลพลอยได้จากหญ้าแฝกดอน สามารถตัดใบไปกรองเป็นตับแฝก
ซื้อขายทำหลังคาได้ หญ้าแฝกหอมใบอ่อนใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงวัว ควายได้ ซึ่งจะต้องตัดในช่วงอายุ 2 ถึง 4 สัปดาห์ หลัง
จากตัดครั้งก่อน เช่น กำแพงเพชร 2 นอกจากนี้พันธุ์หญ้าแฝกหอมจากอินเดียใช้เลี้ยงปลาจีนได้ ใบหญ้าแฝกหอมเมื่อตาก
แห้งดีแล้วนำไปทำพวงหรีดหรือดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องจักรสาน เช่น หมวก ตะกร้า เป็นต้น

4. รากหญ้าแฝก หญ้าแฝกมีรากที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เส้นโตหยั่งลึกลงไปในดินและแตกแขนงเป็นรากฝอยประสานกันแน่น
เหมือนตาข่ายหรือร่างแห เกาะยึดดินให้มีความแข็งแรงมั่นคง การปลูกหญ้าแฝกติดต่อกันระบบรากจะเป็นเสมือนม่านใต้ดินชะ
ลอการไหลซึมของน้ำใต้ดิน ทำให้ความชื้นในดินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันการกัดเซาะของน้ำที่ทำให้เกิดร่องขนาด
เล็ก (rill) และขนาดใหญ่ (gully) ซึ่งเกิดขึ้นจากด้านล่างของแนวลาดชันย้อนขึ้นมาด้านบน เมื่อถึงแนวหญ้าแฝกก็จะหยุดเพียง
แค่นั้นซึ่งกรณีดังกล่าวคันดินไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ รากหญ้าแฝกยังสามารถดูดซึมสารเคมี แร่ธาตุอาหารพืชที่ถูกชะละลาย
ลงไปในดิน เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เก็บไว้ในต้นหญ้า เป็นการป้องกันไม่ให้สารเคมีเหล่านั้นไหลลงไปยัง
แหล่งน้ำและปลอดภัยจากการเกิดมลภาวะของน้ำ ทำให้น้ำมีคุณภาพ

5. การกระจายพันธุ์ของหญ้าแฝก สายพันธุ์หญ้าแฝกที่ได้รับการคัดเลือกแล้วจะมีการกระจายพันธุ์ด้วยเมล็ดน้อยหรือแทบ
ไม่มีเลยจึงไม่อยู่ในลักษณะของวัชพืชร้ายแรง เช่น สายพันธุ์จากอินเดีย ศรีลังกา สามารถปลูกได้ในสวนผลไม้ และพื้นที่
เกษตรทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเขตกรรมและดูแลรักษาเสมอจะไม่ปรากฎว่ามีหญ้าแฝกต้นเล็ก ๆ ที่งอกเมล็ดขึ้นใน
บริเวณกอหญ้าแฝก เลย เช่น หญ้าแฝกหอมที่ปลูกยึดคันนาบริเวณช่องระบายน้ำในแถบภาคใต้จังหวัดสงขลา และนราธิวาส

6. แถวหญ้าแฝกหรือแนวรั้ว หญ้าแฝกกินเนื้อที่ไม่กว้าง เช่น ความกว้างประมาณ 1 ถึง 1.5 เมตร สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจ
ได้ชิดแนวหญ้าแฝกจึงทำให้เสียพื้นที่น้อย การปลูกหญ้าแฝกทำได้ง่าย บุคคลทุกอาชีพสามารถช่วยกันปลูกแฝกเพื่อป้องกัน
การกัดเซาะของดินได้ การขยายพันธุ์สามารถทำได้จากการแยกหน่อ ซึ่งหญ้าแฝกมีการเจริญเติบโตแตกกออย่างรวดเร็วจึง
สามารถขยายพันธุ์ได้ตลอดเวลา

 

     การปลูกหญ้าแฝกสามารถปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ หญ้าแฝกเป็นพืชที่ค่อนข้างมีข้อจำกัดน้อยยกเว้นบางพื้นที่ ซึ่งมีปัญหา
สภาพรุนแรงของพื้นที่มากเช่น พื้นที่เค็มจัดชายทะเล กรดจัด เช่น พื้นที่พรุเก่า pH ต่ำกว่า 4.5 จะต้องทำการปรับสภาพดินด้วย
การใส่ปูนหรือหินฝุ่นเสียก่อน พื้นที่สูงที่ท้องฟ้าปิดเกือบตลอดปี ซึ่งมีความเข้มข้นของแสงแดดไม่เพียงพอ เช่น พื้นที่ปางตอง
อ. เมือง จ. แม่ฮ่องสอน แต่แก้ ไขได้โดยการใช้พันธุ์ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น สายพันธุ์แม่ฮ่องสอน แม่ลาน้อย ปาง มะ
ผ้าใหม่ห้วยหวาย เป็นต้น

      ค่าใช้จ่ายการปลูกหญ้าแฝกให้เป็นแนวรั้วหรือแนวพืช เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำนั้น หากทำด้วยเทคนิคที่ถูกต้อง และมีการ
วางแผน และควบคุมงานที่รัดกุม เช่น ใช้พันธุ์ที่เหมาะสม มีการใช้ปุ๋ยปลูกให้ถูกต้องตามฤดูกาล ใช้หน่อหญ้าแฝกที่มีคุณภาพ
ก็สามารถที่จะลดต้นทุนได้ หรือลงทุนต่ำ เกษตรกรสามารถดำเนินการได้

     ในสภาวะแวดล้อมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป คือ พื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การตกของฝนแปรปรวนไม่แน่นอน
ความรุนแรงของพายุฝนมีมากขึ้นมีน้ำท่วมฉับพลัน บางพื้นที่แห้งแล้งมีผลกระทบต่อทุกคนทั้งชุมชนเมืองชนบท การปลูกหญ้า
แฝกในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและทุกคนมีส่วนร่วมได้เป็นพื้นที่กว้างขวาง จะสามารถป้องกันปัญหา
น้ำท่วมอย่างฉับพลันลดความแห้งแล้งทั้งในพื้นที่เพาะปลูกและชุมชนเมือง เช่น การปลูกหญ้าแฝกเพื่อชะลอความเร็วของน้ำ
ตามทางน้ำธรรมชาติ และพื้นที่ลาดชันต่าง ๆ