วิธีพืช   วิธีกล   วิธีการเขตกรรม

การอนุรักษ์ดินและน้ำโดยวิธีกล ทำได้โดยวิธีการทำคันดิน (Terracing) กั้นน้ำหรือขวางความลาดเขาของพื้นที่

ชนิดของการทำคันดิน
(ก) คันดินขั้นบันได (bench terrace) คือ ขั้นบันไดซึ่งสร้างขึ้นโดยการทำคันดินหรือหินไปตามแนวระดับ ทำเป็นขั้น ๆ แคบ ๆ สร้างเมื่อความลาดเทเกินกว่า 15 % แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดย่อย ๆ คือ

  • Level bench terrace เหมาะสำหรับบริเวณที่มีฝนตกปานกลาง คือ ฝนตกครั้งหนึ่ง ๆ อยู่ในระหว่าง 6.35- 38.1 มม. ต่อ ชม.
  • Forward bench terrace เหมาะสำหรับบริเวณที่มีฝนตกน้อย คือ น้อยกว่า 6.35 มม. ต่อ ชม.
  • Backward bench terrace เหมาะสมสำหรับบริเวณที่มีฝนตกชุก คือ มากกว่า 38.1 มม. ต่อ ชม.

     ในบริเวณที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย การปลูกไม้ผลตามที่ลาดชันนั้นมีการทำแค่ orchard terrace หรือ individual basin ตามแนว contour เท่านั้นซึ่งได้ผลดี และเหมาะสมกับบริเวณดังกล่าว

( ข) คันดินฐานกว้าง (broadbase terrace) เป็นคันดินที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับคันดินขั้นบันได แต่มีความกว้างของขั้นบันไดกว้างกว่า โดยปกติสร้างขึ้นในบริเวณที่มีความลาดชันน้อยหรือที่เกือบราบ อาจแบ่งได้ออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

  • Level broadbase terrace เป็นขั้นบันไดที่สร้างขึ้นตามแนวระดับ ส่วนมากจะสร้างในบริเวณที่มีการซาบซึมน้ำดีซึ่งใช้สำหรับพืชไร่ หรือเก็บน้ำได้ดีกรณีของการทำนาบนไหล่เขา
  • Graded broadbase terrace เป็นขั้นบันไดซึ่งสร้างขึ้นโดยมีการลดหลั่นระดับในร่องน้ำของคันดินไปยังทางระบายน้ำ (water way) ที่ปลอดภัย

หลักการทำคันดิน แบบ graded broadbase terrace

( ก) ความยาวของขั้นบันได ขึ้นอยู่กับลักษณะของฝน สมบัติของดิน ซึ่งได้แก่อัตราการซึมผ่านน้ำ และขนาดของร่องน้ำ โดยปกติไม่ควรเกิน 300- 540 ม. หากความยาวของเนื้อที่เกินกว่าที่กำหนดให้ ควรจัดทำทางระบายน้ำเป็นระยะ เพื่อลดความยาวของคันดินให้อยู่ภายในพิกัด

( ข) การลดแนวร่องน้ำจากแนวระดับ (grading หรือ dropping) โดยทั่ว ๆ ไปใช้ 0.1-0.4 % ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของดินและฝนและความยาวของขั้นบันได ถ้าหากเป็นดินร่วนน้ำซึมผ่านได้ดีก็ใช้ grade ต่ำแต่ถ้าฝนตกหนักมากก็ต้องใช้ grade สูงขึ้น

( ค) ระยะห่างของขั้นบันได

ผลของการทำคันดิน (Terracing)

ข้อดี

  • ลดปริมาณการสูญเสียเนื้อดิน
  • ป้องกันการเกิดร่องน้ำ
  • เป็นการสงวนน้ำไว้ใช้ในดินในบริเวณที่ขาดแคลนน้ำ
  • ทำให้การใช้ดินเป็นไปอย่างกว้างขวาง ปราศจากอันตรายจากการสูญเสียดิน

ข้อเสีย

  • เป็นวิธีการอนุรักษ์ดินที่ต้องลงทุนก่อสร้างและดูแลรักษาสูง
  • เป็นวิธีการที่ไม่เกิดประโยชน์เมื่อใช้โดยลำพัง ต้องใช้ควบคู่กับวิธีการอื่น ๆ เช่น การปลูกพืชตามแนวระดับ
  • โดยทั่ว ๆ ไป วิธีนี้เหมาะแต่เพียงสำหรับพื้นที่เพาะปลูกที่มีความลาดเทไม่เกิน 10 % เท่านั้น เว้นแต่คันดินขั้นบันได (bench terrace)